“ออฟฟิศซินโดรม” เป็นอาการปวดไหล่บ่า ที่พบเจอได้บ่อยในยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงาน ที่ส่วนใหญ่ต้องนั่งทำงานบนโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสาร งานใช้คอมพิวเตอร์ หรือทํางานอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยท่าทางซํ้าๆ ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน เช่น การขับรถ การนั่งก้มใช้มือถือบ่อยๆ เป็นต้น ซึ่งงอิริยาบทที่เกิดจากการทำงานหรือสิ่งต่างๆ เหล่านนี้นั่นเองที่ส่งผลให้เกิดความปวดเมื่อยขึ้นมา และเมื่อระยะเวลานานเข้า ก็เกิดเป็นการปวดเมื่อยเรื้อรังในที่สุด


โรค “ออฟฟิศซินโดรม” มักพบอาการหลักๆ ดังนี้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า ไหล่ โดยอาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณต่างๆ เช่น ปวดบ่าร้าวไปถึงบริเวณสะบักด้านหลัง บ้างกก็ปวดร้าวลงแขน เมื่อยแขน ชาตามมือ บ้างก็ปวดบ่าร้าวขึ้นตามลำคอ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา จนบางครั้งคนไข้เองก็คิดว่าตัวเองเป็นไมเกรน หากมีอาการสะสมเรื้อรังเป็นต่อเนื่องระยะเวลานานๆ อาการรุนแรงขึ้นก็อาจส่งผลไปถึงกระดูกสันหลังช่วงคอเสื่อม หรือปวดเอว ปวดขา ต่างๆตามมาได้
ในทางแพทย์แผนจีนกล่าวไว้ว่า不通则 痛, 不荣则痛 อาการปวดจากโรคออฟฟิศซินโดรมนั้นก็มีสาเหตุมาจาก 经络阻闭, 气血不行所致特点คือ เส้นลมปราณถูกปิดกั้น ทําให้เลือดลมไม่ไหลเวียน หรือเลือดลมบริเวณนั้นๆเติดขัด เกิดการพร่อง จึงก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยขึ้นมา ซึ่งก็ไปสอคดล้องกับข้อมูลของแพทย์ปัจจุบันที่ว่าด้วย ความเครียดที่สะสม รวมทั้งอิริยาบทที่เราต้องทำท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ กล้ามเนื้อทำงานต่อเนื่องไม่ได้คลายตัว จนเกิดการหดรั้งขึ้น ของเสียที่กล้ามเนื้อผลิตออกมาก็สะสม ไว้บริเวณนั้นจนก่อให้เกิดอาการปวดขึ้น หลายๆคนคงเคยไปนวดเพื่อลดอาการปวดบ่าปวดไหลเหล่านี้กันมาบ้างแล้ว บางคนนวดจนระบม แต่ก็ยังไม่หาย บางคนก็กินยาแก้ปวดลดอาการกันไป แต่ทราบหรือไม่ว่าการกินยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจมีผลกระทบต่อตับและไตของเราได้

การแพทย์แผนจีนก็เป็นอีกหนึ่งการรักษาเพื่อลดอาการปวดในโรคออฟฟิศซินโดรม โดยใช้ศาสตร์การรักษาโรคด้วยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาสมุนไพร การปรับสมดุลในร่างกายของเราเอง หนึ่งในวิธียอดฮิตที่รู้จักกันดี คือ “การฝังเข็ม” การฝังเข็ม เป็นการกระตุ้นเลือดลมโดยจะใช้เข็มฝังตามจุดต่างๆบนเส้นลมปราณที่อยู่บนร่างกายเรา โดยเฉพาะบริเวณที่มีอาการปวด ตามบ่า ไหล่ หรือสะบัก ซึ่งการฝังเข็มจะช่วยให้เลือดลมที่ติดขัดหรือพร่องบริเวณนั้นไหลเวียนได้ดีขึ้น เมื่อเลือดลมไหลคล่อง กล้ามเนื้อจะได้รับอาหาร ได้ออกซิเจนมาเลี้ยง ก็จะไม่สะสมของเสีย อาการปวดที่เกิดขึ้นก็จะลดลง ทั้งนี้การฝังเข็มควรทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้อาการปวดลดลงตามลำดับ ไม่ให้เป็นมากขึ้นและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

นอกจากการไปฝังเข็มเพื่อรักษาอาการปวดต่างๆเหล่านี้แล้ว เราควรดูแลตัวเองในช่วงขณะทำงาน หรือในระหว่างดำเนินกิจวัตรประจำวันต่างๆ เพื่อไม่ให้อาการปวดกลับมาอีกหรือเป็นมากขึ้น โดยที่ในขณะทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆชั่วโมง เราควรหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เปลี่ยนอิริยาบทบ้าง อาจจะลุกออกไปดื่มน้ำ สูดอากาศ ยืดกล้ามเนื้อ หรืออีกวิธีที่เราจะนำเสนอคือการกดจุดลดอาการปวดบ่าด้วยตัวเอง โดยกดตามจุดที่จะกล่าวด้านล่างนี้ จุด 风池 เป็นจุดบนเส้นลมปราณถุงน้ำดี ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ตรงรอยบุ๋มระหว่างกล้ามเนื้อ Sternocleidomastoid กับ Trapezius ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ จุด 风门 จุดบนเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ ตำแหน่งใต้ Spinous process ของกระดูกสันหลังอกข้อที่2 ห่างจากเส้นกึ่งกลางออกมา 1.5 ชุ่น จุด 曲池 จุดบนเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ ตําแหน่ง: งอข้อศอกทํามุม 60-90องศา จุดจะอยู่ตรงปลายด้านนอกของรอยพับข้อศอก จุด 外关 จุดบนเส้นลมปราณซานเจียว ตรงกลางด้านหลังแขนล่าง ระหว่างกระดูก Radius และ Ulna และเหนือข้อมือขึ้นมา 2ชุ่น จุด 足临泣 จุดบนเส้นลมปราณถุงน้ำดี ตำแหน่งที่ด้านหลังเท้า ตรงระหว่างนิ้วก้อยเท้าและนิ้วนางเท้า ตำแหน่งขอบ Tarsometatarsal Joint จุด 阿是穴 จุดกดเจ็บที่อยู่บริเวณรอบๆบนส่วนที่มีอาการปวด ซึ่งมีตำแหน่งไม่แน่นอน กดตรงไหนเจ็บก็ตือจุดตรงนั้น


ในตำราศาสตร์จีน ยังได้กล่าวว่า 正气存内, 邪不可干 หากเราบํารุงดูแลร่างกาย ให้แข็งแรง สมดุลยิน หยาง เลือด ลมปราณมีความสมบูรณ์เพียงพอ ของเสียหรือเชื้อโรคต่างๆก็ไม่สามารถทำร้ายร่างกายเราได้ ดังนั้นนอกจากการรักษาและดูแลตัวเองที่กล่าวไว้ข้างต้น เรายังควรใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราร่วมด้วย
• ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบททุกๆ1-2ชั่วโมง เพื่อลดความเครียดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
• ทําความสะอาดและปรับโต๊ะหรือสถานที่ทํางานให้มีสภาพที่เหมาะสม
• ควรพักผ่อนบ้าง ไม่ควรตรากตรํามากเกินไป
• หมั่นออกกําลังกายสมํ่าเสมอ อย่างพอเหมาะพอดี
• ทานอาหารให้ครบ5หมู่ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อระบบร่างกาย

บทความโดย  แพทย์จีน กฤติภร ภูรีนนทกิจ

สงวนลิขสิทธิ์โดย แมนดารินคลินิก

Contact us , Map